ปรากฏการณ์ ลานีญา

ลานีญา เป็นปรากฏการณ์ที่ตรงข้ามกับเอลนีโญ คือ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกกลางและตะวันออกมีค่าต่ำกว่าปกติ ทั้งนี้เนื่องจากลมค้า (trade wind) ตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดอยู่เป็นประจำในแปซิฟิกเขตร้อนทางซีกโลกใต้ (ละติจูด 0.03 องศาใต้) มีกำลังแรงกว่าปกติ จึงพัดพาผิวน้ำทะเลที่อุ่นจากแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออก (บริเวณฝั่งเอกวาดอร์ เปรู และชิลีตอนเหนือ) ไปสะสมอยู่ทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันตก (บริเวณชายฝั่งอินโดนีเซียและออสเตรเลีย) มากยิ่งขึ้น จึงทำให้ทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันตกซึ่งแต่เดิมมีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและระดับน้ำทะเลสูงกว่าทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออกอยู่แล้ว กลับยิ่งมีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและระดับน้ำทะเลสูงกว่าทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออกมากยิ่งขึ้นไปอีก มีผลทำให้ทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันตกมีปริมาณฝนมากขึ้น ขณะที่ทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออกจะมีความแห้งแล้งรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน ปรากฏการณ์ลานีญาจะเกิดโดยเฉลี่ย 5 - 6 ปี ต่อครั้ง และแต่ละครั้งกินเวลานานประมาณ 1 ปี บริเวณที่มีผลกระทบทำให้มีปริมาณฝนมากกว่าปกติได้แก่ประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลียตอนเหนือ ฟิลิปปินส์ อินเดียตอนเหนือ ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา และด้านตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ส่วนบริเวณที่มีผลกระทบแต่ทำให้มีปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ ได้แก่ ประเทศชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา บราซิลตอนใต้ ถึงตอนกลางของประเทศอาร์เจน-ตินา
สำหรับประเทศไทยนั้น ผลกระทบขนาดรุนแรงที่มีต่อฝนและอุณหภูมิใน 3 ฤดู ฝ่ายวิชาการภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่า
"ฤดูฝนปีที่เกิดลานีญา (มิ.ย. - ต.ค.) ฝนจะสูงกว่าปกติเว้นแต่ทางบริเวณของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีฝนอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปรกติ
ฤดูหนาวปลายปีที่เกิด - ต้นปีหลังเกิดลานีญา (พ.ย. - ก.พ.) ทั่วประเทศจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติ สำหรับฝนในฤดูหนาวของประเทศตอนบนมีอุณหภูมิในเกณฑ์ต่ำกว่าปรกติ เว้นแต่ตามบริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกที่จะมีฝนสูงกว่าปกติ และฝนในภาคใต้ทั้ง 2 ฝั่งในครึ่งแรกของฤดู (พ.ย. - ธ.ค.) จะมีฝนสูงกว่าปรกติ แต่ฝนจะลดลงในครึ่งหลังของฤดู (ม.ค. - ก.พ.) โดยอาจจะมีฝนอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปรกติ
ฤดูร้อนปีหลังเกิดลานีญา (มี.ค. - พ.ค.) ทั่วประเทศจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติทั่วประเทศ และจะมีฝนตกลงมาบ้าง อยู่ในเกณฑ์สูงกว่าปรกติทั่วประเทศซึ่งจะทำให้อากาศไม่ร้อนมาก"
เมื่อวิเคราะห์จากผลกระทบของการมาของลานีญาแล้ว ประเทศไทยจะมีฝนในปริมาณที่สูงกว่าปรกติ และหากสาวน้อยนางนี้พาลมพายุ ซึ่งเป็นบริวารติดสอยห้อยตามนำฝนมาตกเหนือเขื่อนทุกเขื่อนที่น้ำกำลังเหือดแห้งให้เต็มเขื่อนแล้วรีบพากันจากไป ก็จะเป็นคุณแก่ประเทศไทยอย่างมาก แต่ถ้าบรรดาบริวารทั้งหลายพาฝนมาเทใต้เขื่อนและยังอ้อยอิ่งหลงไหลกับประเทศไทยแดนมหัศจรรย์วนเวียนเข้ามาไม่หยุดแล้ว คนไทยคงต้องจมน้ำกันอีกครั้งเป็นแน่

ไม่มีความคิดเห็น: