“ทายนิสัยจากแบบทดสอบ”

“ทายนิสัยจากแบบทดสอบ”
ของเก๊หรือของจริง !!!

ส่วนสำคัญของนิตยสารสำหรับวัยรุ่น ที่วัยรุ่นโดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงจะต้องเปิดดูเป็นอันดับแรก ได้แก่ ส่วนที่มีการนำแบบทดสอบทางจิตวิทยาต่าง ๆ มาให้ลองทำ และให้คิดคะแนนเพื่อให้รู้ว่าตนเองเป็นคนเช่นไร ทั้งดูจากกลุ่มเลือด การตอบคำถามไม่กี่ข้อ อาหารที่ชอบ หรือแม้แต่สีของชุดชั้นในที่ชอบ
นอกจากแบบทดสอบทำนองนี้จะเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่วัยรุ่นหญิงชาวญี่ปุ่นแล้ว กลุ่มผู้วิจัยชาวญี่ปุ่น นำโดย Dr. Sakamoto จากมหาวิทยาลัย Ochanomizu กรุงโตเกียว ยังชี้ว่าความนิยมกำลังแพร่หลายไปในหมู่วัยรุ่นเกาหลี ไต้หวัน และฮ่องกงด้วย เพราะความสนุกสนานที่ได้ทำแบบทดสอบ แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ความตรงของการวัดลักษณะที่แบบทดสอบอ้างถึงว่าจะเชื่อถือได้มากเพียงใด ซึ่งเรื่องนี้ถึงขนาดเป็นปัญหาที่นักวิชาการต้องนำมานั่งถกกันเลยทีเดียว แต่พวกที่ชอบทำแบบทดสอบพวกนี้ก็มักจะอ้างว่า ไม่มีใครไปจริงจังกับผลหรือคำทำนายที่ออกมา ที่ทำก็เพราะมันสนุกดี และคิดว่าคำทำนายที่ได้จากแบบทดสอบทางจิตวิทยาลักษณะนี้ไม่ได้มีผลอะไรกับตนเอง
แต่ความจริงจะเป็นดังคำกล่าวนี้หรือไม่…
Dr. Sakamoto และคณะ จึงได้จัดการทดลอง เพื่อศึกษาถึงอิทธิพลของแบบทดสอบทางจิตวิทยาที่เป็นที่นิยมของวัยรุ่น ที่มีต่อภาพลักษณ์ที่วัยรุ่นมีต่อตนเองหลังจากทำแบบทดสอบ และแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมไปตามคำแปลผลแบบทดสอบนั้น ๆ
ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า คำแปลผลจากแบบทดสอบมีผลต่อความเชื่อของผู้ตอบว่าตนเองมีลักษณะนิสัยแบบใด โดยเฉพาะแบบทดสอบทางจิตวิทยายอดนิยม ที่มีอิทธิพลต่อภาพลักษณ์ต่อตนเองของวัยรุ่นมากกว่าแบบทดสอบตามหลักวิชาการ นั่นคือทำให้ผู้ตอบเชื่อว่าตนเองมีลักษณะตามคำแปลผลได้มากกว่า แต่ในทาง พฤติกรรมนั้น แบบทดสอบทั้ง 2 แบบให้ผลพอ ๆ กัน นั่นคือทำให้ผู้ตอบที่เข้าใจว่าตนเองเป็นคนชอบเข้าสังคม พูดคุยกับคนแปลกหน้าบ่อยกว่าคนที่เข้าใจว่าตนเองเป็นคนชอบเก็บตัว และผู้ตอบที่ได้ทำแบบทดสอบทางจิตวิทยายอดนิยม ยังระบุว่าตนเอง พึงพอใจและมีความสุขมากกว่าคนที่ทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาตามหลักวิชาการด้วย
ผลการทดลองที่ได้นี้ Dr. Sakamoto และคณะผู้วิจัยสรุปว่า เกิดปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง หรือ Self-fulfilling prophecy ขึ้น นั่นคือคำแปลผลหรือคำทำนายของแบบทดสอบทำให้ผู้ตอบรับรู้ตนเอง และมีพฤติกรรมไปตามที่แบบทดสอบบอก ทำให้คำทำนายของแบบทดสอบที่อาจไม่ตรงกับความเป็นจริงเลย กลายเป็นจริงขึ้นมาในตัวผู้ตอบ กลุ่มผู้วิจัยจึงระบุว่า “แบบทดสอบทางจิตวิทยาแบบยอดนิยมนั้นมี อิทธิพลต่อคนตอบ จึงเป็นมากกว่า “แค่ความสนุก” เท่านั้น ลักษณะการสร้างความเป็นจริงขึ้นในตัวผู้ตอบแบบทดสอบเหล่านี้ ทำให้แบบทดสอบดูน่าเชื่อถือและเป็นที่นิยมมากขึ้นไปอีก แต่เมื่อพิจารณาความตรงของแบบทดสอบ ก็เห็นว่ายังคงน่าสงสัย จึงสมควรเตือนคนทั่วไปเกี่ยวกับแบบทดสอบเหล่านี้”
ดังนั้น แบบทดสอบของเก๊ก็อาจกลายเป็น “ของจริง” ที่ตรงกับความจริงได้ อย่างน้อยสำหรับตัวผู้ตอบ …
วัยรุ่นไทยทั้งหลายที่ชอบทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาตามนิตยสาร จึงต้องยั้งใจเอาไว้บ้าง เพราะถ้าไปเจอแบบทดสอบของเก๊ เราก็อาจจะกลายเป็น “คนหลายใจ” (ตามคำทำนาย) ไปจริง ๆ เพราะแค่ตอบคำถามที่ใครก็ไม่รู้นั่งเทียนเขียนขึ้นเองค่ะ …

บทความวิจัย : Sakamoto, A., Miura, S., Sakamoto, K., & Mori, T. (2000). Popular psychological tests and self-fulfilling prophecy: An experiment of Japanese female undergraduate students. Asian Journal of Social Psychology, 3, 107-124.
แปลและเรียบเรียง : อาจารย์ วัชราภรณ์ เพ่งจิตต์ หลักสูตรสาขาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่มีความคิดเห็น: