แกะรอย...เส้นทาง“โอเน็ต”

ว่ากันว่าก่อนข้อสอบ “การทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต” ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 วิชา จะผลิตขึ้นมาได้ 1 ชุดนั้น ทางสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ต้องไปสรรหาเหล่านักวิชาการหัวกะทิจากทั่วประเทศ ร่วมกันตกผลึกทางความคิด วิเคราะห์เนื้อวิชา อยู่ใน "เซฟเฮ้าส์" แห่งหนึ่งของประเทศไทย

ซึ่งไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่า "เซฟเฮ้าส์" แห่งนั้น อยู่แห่งหนใด มีเพียงคนวงใน หรือนักวิชาการหัวกะทิ ที่ต้องคลุกคลีอยู่กับข้อสอบ ทั้งวันทั้งคืน จวบจนกระทั่งได้ข้อสอบที่เสร็จสมบูรณ์เท่านั้นที่รู้

หลังจากที่ ข้อสอบโอเน็ต เสร็จสมบูรณ์ ก็ต้องพึ่งกระบวนการพิมพ์ เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม.6) ที่ต้องเข้าสอบ และกระบวนการพิมพ์ช่วงเดือนมกราคมข้อสอบอยู่ใน “โรงพิมพ์” แห่งเดียวกับที่ประเทศมาเลเซียจัดพิมพ์พาสปอร์ต เพราะเชื่อว่าคนไทยอ่านภาษามาเลเซียไม่ออก จึงเป็นโรงพิมพ์ที่มีความปลอดภัยสูง และน่าเชื่อถือไม่น่าจะมีข้อสอบรั่วไหลได้ จึงเชื่อว่าได้ว่าเป็น “โรงพิมพ์” ได้รับมาตรฐานและมีความปลอดภัยสูง ได้รับความไว้วางใจจาก สทศ.ในการจัดพิมพ์ข้อสอบตั้งแต่ชุดแรก จึงถึงชุดสุดท้ายของโอเน็ตในขณะนี้

ระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนข้อสอบโอเน็ตกว่า 3 แสนฉบับ ทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้เสร็จสมบูรณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ สทศ.คอยดูแลและควบคุมการดำเนินงานอยู่ตั้งแต่ต้นจนจบ มีเพียงเจ้าหน้าที่คนเก่าคนแก่และคนเดิมๆ ของ สทศ.เท่านั้นที่รู้เส้นทางข้อสอบโอเน็ต

ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผอ.สทศ. การันตีว่า “คนที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องข้อสอบโอเน็ต มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น และคนที่เกี่ยวข้องทุกคนเป็นคนที่สามารถเชื่อถือ เชื่อใจได้ จึงมั่นใจได้เลยว่า ข้อสอบโอเน็ตไม่มีทางรั่วอย่างแน่นอน เพราะเรามีมาตรฐานข้อสอบที่อยู่ในคลังก็มีเยอะ และสามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลา”

เดือนกุมภาพันธ์ใกล้เวลาที่ "ข้อสอบโอเน็ต” ออกมาโลดแล่น ท้าทายความคิด สติปัญญาของเหล่านักเรียนชั้น ม.6 ให้ได้ประลองกันเต็มที่ ทั้งเด็กในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รถในการขนส่งข้อสอบจำนวน 18 คันของ สทศ. วิ่งออกจากโรงรถไปตามศูนย์สอบต่างๆ ทั้งต่างจังหวัดตามความใกล้ไกลของพื้นที่

ส่วนศูนย์สอบกรุงเทพฯ โดยจัดส่งก่อนวันสอบ 1 วัน คือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 “ข้อสอบ” จะถูกปิดด้วยสติกเกอร์ จนกว่าจะถึงมือคณะกรรมการคุมสอบ ซึ่งจะเป็นผู้แกะ “สติกเกอร์” เอาข้อสอบออกมาจากซอง แจกให้นักเรียนได้ทดสอบความรู้กันถ้วนหน้า

จะว่าไปแล้วข้อสอบโอเน็ต ใช้ระยะเวลานานพอสมควร กว่าจะเดินทางมาถึงมือของนักเรียน ทว่า “การโกงข้อสอบโอเน็ต” ที่เกิดขึ้นสะท้อน “ความซื่อสัตย์ของเด็กไทย” เรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เด็กไทยยังคิดโกง จึงมีคำถามว่า...แล้วถ้าเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้ปกครอง บริหารประเทศ เขาจะไม่คิดโกงได้อย่างไร?
ขณะเดียวกัน ถ้าย้อนกลับมองไปอีกมุมหนึ่ง เรื่องนี้คงโทษเด็กอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะระบบ ค่านิยม การอยากเข้าคณะยอดนิยม มหาวิทยาลัยดังๆ มักครอบงำจิตสำนึกดีๆ ของเด็กเอาไว้

ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวยอมรับว่า การทุจริตในปี 2550 ทำให้ สทศ.ต้องวางมาตรการคุมเข้มการสอบโอเน็ตในอนาคต โดยจัดพิมพ์ข้อสอบ 2 ซอง ที่อาจจะสลับข้อ หรือเป็นข้อสอบคู่ขนาน ให้เด็กทุกคนนั่งสอบจนหมดเวลาก่อนออกจากห้องสอบ ห้ามนำเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด รวมถึงนาฬิกาเข้าห้องสอบ ให้ห้องสอบทุกห้องติดนาฬิกา เพื่อให้เด็กได้ดูเวลา มีการกำชับครูคุมสอบให้จับตาและดูพฤติกรรมของผู้เข้าสอบใกล้ชิด เช่น ดูว่ามีการก้มมองอะไรตลอดเวลา หรือมีพิรุธอะไรบ้าง มีการขยับรองเท้าบ่อยๆ หรือไม่ เพราะเคยมีคนบอกว่าการขยับเท้าเป็นการส่งสัญญาณได้ และจับตาดูปากกา เพราะมีปากกาสแกนได้ด้วย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม “การสร้างจิตสำนึกที่ดี” ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสร้าง คงไม่ปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อขึ้น และปล่อยเลยไป ดั่งการแก้ไขปัญหา บางครั้งการแก้ที่ปลายเหตุอาจช่วยได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: