Backward Design

การออกแบบการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการ Backward Design
การออกแบบการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการ Backward Design
อ.ดร. ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช

ความเป็นมา
การออกแบบการเรียนรู้ แบบ Backward Design เป็นแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและมีคุณค่ายิ่งอีกเรื่องหนึ่งในวงการศึกษา ในศตวรรษใหม่ นับเนื่องจากปี 2000 เป็นต้นมา โดยเกิดจากแนวคิดของ Grant Wiggins และ Jay Mc Tighe ซึ่งได้เผยแพร่แนวคิดในเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการออกแบบการจัดการเรียนรู้
สำหรับประเทศไทยแนวคิดของ Grant Wiggins ได้เผยแพร่มาก่อนในวงการวัดผลและประเมินผลการศึกษา โดยเฉพาะการประเมินผลตามสภาพจริง โดยมีนักการศึกษาไทยหลายคน รวมทั้งผู้เขียนเองได้นำแนวคิดดังกล่าวมาเผยแพร่ในรูปแบบการวัดผลที่เน้นให้ผู้เรียนปฏิบัติภาระงานในกิจกรรมการเรียนการสอน และนำภาระงานนั้นไปสู่การสะท้อนความรู้ความสามารถและคุณ-ลักษณะที่เหมาะสม ตามที่มาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ได้กำหนดไว้ แต่อย่างไรก็ตามในการดำเนินการดังกล่าว ครูยังมองแยกส่วนระหว่างการจัดการเรียนรู้และการปฏิบัติภาระงาน นอกจากนี้การกำหนดภาระงานที่ปลีกย่อยมากกว่าภาระงานบูรณาการที่สะท้อนความสามารถจริงของนักเรียนแบบองค์รวม และการใช้ความรู้ความคิดขั้นสูง (Metacognition) ยังสร้างภาระให้แก่นักเรียนที่ต้องปฏิบัติงานมาก และภาระงานของครูในการตรวจให้คะแนน
จนกระทั่งปี 2550 จึงได้มีการให้ความสนใจนำแนวทางในการออกแบบการเรียนรู้แบบ Backward Design มาใช้โดยเริ่มเผยแพร่ในการพัฒนาครูสู่วิทยฐานครูชำนาญการพิเศษ และในโรงเรียนผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยนำแนวทางที่ Grant Wiggins และ Jay Mc Tighe ได้นำเสนอ และแนวปฏิบัติที่โรงเรียนนานาชาติในประทศไทยบางแห่งได้ทดลองใช้มาก่อนมาเผยแพร่ ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ไม่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องใหม่ แล้วทำตัวเป็นกระต่ายตื่นตูมตามกระแส แต่ควรคิดพิจารณาให้ดี แล้วนำไปสู่การปรับปรุงสิ่งที่คุ้นเคยและปฏิบัติอยู่แล้วในลักษณะการเสริมเติมเต็มในส่วนที่บกพร่อง มากกว่าการรื้อปรับใหม่ทั้งหมด

ความหมายของการออกแบบการเรียนรู้แบบ Backward Design
การออกแบบการเรียนรู้แบบ Backward Design ได้มีผู้แปลเป็นภาษาไทย หลากหลาย เช่น การออกแบบการเรียนรู้แบบมองย้อนกลับ การออกแบบการเรียนรู้แบบย้อนกลับ การออกแบบการเรียนรู้แบบถอยหลัง การออกแบบการเรียนรู้แบบสะท้อนกลับ การออกแบบการเรียนรู้แบบย้อนรอย ในที่นี้ขอเรียกว่าการออกแบบการเรียนรู้แบบมองย้อนกลับ ซึ่งดูเหมือนว่าจะตรงกับความหมายที่ผู้นำเสนอแนวคิดได้กล่าวไว้ ดังนี้
“กระบวนการออกแบบการเรียนรู้แบบมองย้อนกลับให้เริ่มจากมองทุกอย่างให้จบหรือสิ้นสุดกระบวนการจัดการเรียนการสอน จากนั้นจึงเริ่มต้นจากตอนจบที่ผลผลิตจากการจัดการเรียนรู้ซึ่งได้แก่ เป้าหมายการเรียนหรือมาตรฐานการเรียนรู้นั่นเอง แล้วจึงวางแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนสร้างผลงานหลักฐานแห่งการเรียนรู้ อันเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าเขาได้บรรลุมาตรฐานแล้ว”
กล่าวโดยสรุปแล้วการออกแบบการเรียนรู้แบบมองย้อนกลับ ก็คือการจัดการเรียนรู้ที่เอามาตรฐานการเรียนรู้เป็นเป้าหมายสำคัญที่ผู้เรียนต้องเดินทางไปให้ถึงเป้าหมายนั้น (จุดจบเรื่อง) ส่วนครูมีบทบาทสำคัญที่ต้องหาหนทางนำพาผู้เรียนไปให้ถึงตอนจบแบบ Happy Ending (ดี-เก่ง-สุข-พึ่งตนเองได้) จึงต้องมองย้อนกลับไปก่อนถึงตอนจบว่าต้องทำอย่างไร จึงจะได้ตอนจบที่ดีอย่างนี้ หากเป็นการแสดงละคร ควรมีฉากการแสดง ตัวละครอะไรบ้างก่อนถึงตอนจบ กล่าวอีกทางหนึ่ง Backward Design ก็หมายถึงกระบวนการออกแบบระบบการจัดการเรียนรู้ ตลอดวิธีปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน ในการมุ่งไปสู่ผลลัพธ์ของการจัดการเรียนรู้ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตร

ขั้นตอนการออกแบบการเรียนรู้แบบ Backward Design
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น แต่ละขั้นตอนสามารถกำหนดเป็นคำถาม 3 คำถาม ซึ่งคำตอบของคำถามจะเป็นแนวทางในการวางแผนของครูนั่นเอง

ขั้นตอน 1 กำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้
คำถาม : อะไรคือสิ่งที่ผู้เรียนต้องมีความเข้าใจ สามารถทำได้ หรือเกิดคุณลักษณะที่มีคุณค่า
ขั้นตอน 2 กำหนดหลักฐานผลการเรียนรู้
คำถาม: อะไรคือพยานหลักฐานที่แสดงว่าผู้เรียนเข้าใจ มีความสามารถ หรือมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์แล้ว
ขั้นตอน 3 ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้
คำถาม : ประสบการณ์การเรียนรู้และการสอนอะไรที่จะสนับสนุน ส่งเสริม จนทำให้ผู้เรียนเข้าใจ มีความสามารถ หรือมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่ต้องการในขั้นที่ 1


กล่าวโดยสรุปแล้ว Backward Design เป็นกระบวนการออกแบบการเรียนรู้ที่นำมาตรฐานการเรียนรู้มาเป็นเป้าหมายการจัดการเรียนการสอน โดยที่ครูผู้สอนจะต้องออกแบบวางแผนกำหนดหลักฐานการเรียนรู้ที่จะแสดงให้เห็นว่าผู้เรียนสามารถบรรลุซึ่งจุด-หมายหลักสูตรรายวิชานั้นๆ และนอกจากนั้นครูผู้สอนจะต้องสามารถออกแบบกิจกรรมที่หลากหลาย ให้สอดคล้องกับภาระชิ้นงาน หรือหลักฐานการเรียนรู้ ซึ่งในขั้นตอนดังกล่าวนี้ จำเป็นจะต้องใช้ทฤษฎีการเรียนรู้ต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง
การออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่จะกล่าวต่อไปนี้ จะเริ่มต้นจากการที่ได้จัดทำหน่วยการเรียนรู้จากคำอธิบายรายวิชาแล้ว โดยหน่วยการเรียนรู้ที่จะนำมาออกแบบการจัดการเรียนรู้ต้องมีองค์ประกอบที่ครบถ้วนดังนี้
1. มีชื่อหน่วยการเรียน
2. ระบุมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นชัดเจน
3. กำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังประจำหน่วยชัดเจน
4. ระบุสาระการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
5. กำหนดเวลาเรียนในหน่วยอย่างเหมาะสม
ประเด็นหนึ่งที่พึงเข้าใจเป็นเบื้องต้น คือการออกแบบการเรียนรู้แบบมองย้อนกลับเป็นการกำหนดแนวทางการวัดผลประเมินผล ควบคู่ไปกับการจัดการเรียนรู้ตลอดทั้งหน่วยการเรียน มิใช่การวางแผนการจัดการเรียนรู้อย่างละเอียดในการสอนแต่ละครั้ง ต่อไปนี้ขอนำเสนอแนวปฏิบัติในการออกแบบการเรียนรู้โดยละเอียดแต่ละขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 แนวทางการกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ (Identify desired results)
หลักการ
การกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ คือการระบุ ความรู้ความสามารถ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านคุณธรรม จริยธรรม เจตคติ ค่านิยม ที่ต้องการให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียน เมื่อเรียนจบหน่วยการเรียนรู้ ซึ่งสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นก็ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการเรียนรู้หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ซึ่งกำหนดไว้ในหลักสูตรสถานศึกษาของสถานศึกษาแต่ละแห่งซึ่งจัดทำตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ของกระทรวงศึกษาธิการนั่นเอง
หลักปฏิบัติ
การดำเนินการของผู้สอนในขั้นตอนนี้ควรดำเนินการดังนี้
1. ผู้สอนต้องระบุชัดเจนว่าหน่วยการเรียนรู้แต่ละหน่วยที่จัดทำนั้น ต้องการให้ผู้เรียนมีความรู้มีความเข้าใจในเรื่องอะไรบ้าง มีความสามารถทำอะไรได้บ้าง ความรู้ ความสามารถที่ผู้เรียนจะต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ยั่งยืน หรือคงทน (Enduring Understandings) คือสิ่งใด ทั้งนี้ยังรวมถึงพฤติกรรมที่เหมาะสมที่ผู้เรียนต้องมีอยู่ในตนด้วย
ทั้งนี้ Grant Wiggins and Jay Mc Tighe ยังได้ให้ข้อเสนอแนะผู้สอนในการพิจารณาเป้าหมายการเรียนโดยใช้กรอบความรู้ในลักษณะของวงกลมสามชั้น เหมือนแผนภูมิในเรื่องเซต(Venn Diagram) ไว้ดังนี้












แผนภูมิที่ 1 กำหนดความรู้และทักษะที่สำคัญประจำหน่วยการเรียนรู้


1. วงแหวนนอกสุด :
ความรู้ที่ผู้เรียนควรรู้ เป็นความรู้ทั่วๆ ไปที่ผู้เรียนมีความคุ้นเคยมาก่อน เป็นความรู้ทั่วไปที่สามารถหาอ่านหาศึกษาได้โดยทั่วไป ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในหน่วยการเรียนรู้ดียิ่งขึ้น
2. วงแหวนชั้นกลาง : เป็นความรู้ที่ต้องรู้และทักษะที่ต้องทำได้ ซึ่งเป็นความรู้และทักษะสำคัญตามที่กำหนดไว้ในหน่วยการเรียนรู้ที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้และต้องนำไปใช้ในการเรียนรู้ในหน่วยนั้นๆ ซึ่งครูต้องวิเคราะห์จากผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง โดยเฉพาะทักษะจะมี 2 ประเภท คือ
• ทักษะตามธรรมชาติวิชา ซึ่งเป็นไปตาม มฐ.ด้านทักษะกระบวนการ
• ทักษะทั่วไป ซึ่งได้จากการเรียนรู้ในวิชาอื่นแต่จำเป็นต้องใช้ในหน่วยการเรียนรู้นี้
• ทักษะการคิด ทั้งการคิดระดับต้นและการคิด
ระดับสูง
3. วงแหวนชั้นในสุด : เป็นความรู้ ความสามารถ ตลอดจนคุณลักษณะที่สำคัญของหน่วยการเรียนรู้ที่มุ่งหวังให้เป็นสิ่งที่ฝังแน่นอยู่ในตัวผู้เรียนตลอดไป เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้ในการเรียน การดำรงชีวิตต่อไป

2. ศึกษาหน่วยการเรียนรู้จากหลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่แต่ละโรงเรียนจัดทำ
ขึ้นโดยนำเอาผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปี รายภาค มากำหนดเป็นเป้าหมายการเรียนรู้ ดัง ตัวอย่างเช่น

ตัวอย่างวิชาคณิตศาสตร์
วิชา คณิตศาสตร์ ชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 2 ค 32101 เวลาเรียน 80 ชั่วโมง/ปี
ที่ ชื่อหน่วย ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง(มฐ.ช่วงชั้น) สาระการเรียนรู้ เวลาเรียน
1 ภาพสวยเพื่อพ่อ 1.บอกภาพ ที่เกิดจากการเลื่อนขนาน การสะท้อน และการหมุนรูปต้นแบบ และสามารถอธิบาย วิธีการที่จะได้ภาพที่ปรากฏ เมื่อกำหนดรูปต้นแบบและภาพได้ (ค 3.2.3)
2.นำความรู้และทักษะ ที่ได้จากการเรียนคณิตศาสตร์ ไปประยุกต์ในการเรียนรู้สิ่งต่างๆในการดำรงชีวิต (ค 6.4.3)
3.มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในการทำงาน (ค 6.5.1) 1. การเลื่อนขนาน
2. การสะท้อน
3. การหมุน 6 ชั่วโมง

จากกรณีตัวอย่าง
ความรู้ที่นักเรียนต้องรู้คือ - การแปลงทางเรขาคณิตใน เรื่อง การเลื่อนขนาน การสะท้อน
การหมุน
สิ่งที่นักเรียนต้องทำได้คือ - บอกภาพที่เกิดจากการเลื่อนขนาน การสะท้อน และการหมุน
รูปต้นแบบ
- อธิบายวิธีการที่จะได้ภาพที่ปรากฏเมื่อกำหนดรูปต้นแบบและ
ภาพนั้น
- นำไปประยุกต์ใช้จากสิ่งต่างๆรอบตัว
ทักษะตามธรรมชาติวิชา คือ ทักษะการสร้างรูปทรงเรขาคณิต
ทักษะตามทั่วไป คือ ทักษะการสังเกต ทักษะการสื่อสาร
ทักษะการคิด คือ ทักษะการคิดสร้างสรรค์

ความรู้ที่คงทน คือ
“ความสามารถในการบอกภาพที่เกิดจากการเลื่อนขนาน การอธิบายวิธีการที่จะได้ภาพที่ปรากฏเมื่อกำหนดรูปต้นแบบและภาพ และการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้จากสิ่งรอบตัว”
คุณลักษณะอันพึงประสงค์
การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการทำงาน

3. ทำการวิเคราะห์ให้ครบทุกผลการเรียนรู้ในหน่วยการเรียนรู้นั้นๆ ทั้งนี้เพราะอาจจะมีบางผลการเรียนรู้ที่สามารถบูรณาการหลอมรวมให้เกิดเป็นความรู้ ทักษะเดียวกัน อันจะนำไปสู่การกำหนดภาระงานเดียวกันได้ หรือถ้าหากจะมีการบูรณาการร่วมกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ ก็จะสามารถดำเนินการได้อย่างชัดเจนและเกิดประสิทธิภาพ ทั้งนี้ผลการเรียนรู้บางข้ออาจมีไม่ครบถ้วนทั้งความรู้ ทักษะและคุณลักษณะก็ได้

ขั้นตอนที่ 2 แนวทางการกำหนดหลักฐานการบรรลุผลการเรียนรู้ (Determine acceptable evidence of learning)
หลักการ
การกำหนดหลักฐานการบรรลุผลการเรียนรู้ ให้พิจารณาจากพฤติกรรมการแสดงออก (Performance) ของผู้เรียนที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน จนสามารถใช้เป็นหลักฐานสำคัญว่าผู้เรียนมีความรู้มีความสามารถตามที่ได้กำหนดไว้ในเป้าหมายการเรียน

หลักปฏิบัติ
การดำเนินการของผู้สอนในขั้นตอนนี้ควรดำเนินการดังนี้
1. กำหนดหลักฐานที่จะถูกประเมินผล (Assessment Evidence) ซึ่งได้แก่ ภาระงาน / ชิ้นงานที่แสดงถึงการบรรลุผลสำเร็จ (Performance Task (s)) : โดยอาจใช้คำถาม 2 คำถามต่อไปนี้
 ผลงานที่แสดงถึงการบรรลุผลสำเร็จตามสภาพจริงที่นักเรียนจะแสดงให้เห็นว่าเขามีความรู้ ความสามารถ ความเข้าใจที่แท้ และพฤติกรรมที่เหมาะสมตามที่กำหนดไว้ในเป้าหมาย คือผลงานอะไร
 เกณฑ์ (Criteria) ที่จะประเมินผลตัดสิน “ผลสำเร็จในภาระงานนั้น” จะใช้เกณฑ์อะไร
2. กำหนดหลักฐานผลงานหลักฐานอื่น ๆ : (Other Evidence) :
ผลงานหลักฐานอื่น ๆ (ตัวอย่างเช่น ผลการสอบย่อย แบบทดสอบ การตรวจสอบทางวิชาการ การสังเกต การบ้าน การจัดทำเอกสารวิชาการ อื่นๆ ...) ที่นักเรียนจะต้องแสดงถึงสัมฤทธิ์ผลเป็นผลลัพธ์ตามที่ต้องการคือหลักฐานอื่น ๆ อะไรบ้าง
การวัดผลประเมินผลในขั้นที่ 2 นี้ ถ้ากล่าวโดยสรุปจะต้องเป็นการวัดผลประเมินผลตามสภาพที่แท้จริงโดยวัดผลประเมินผลตลอดเวลาของการจัดการเรียนรู้
ในที่นี้ขอเสนอเทคนิคการประเมินที่หลากหลายและต่อเนื่อง ได้แก่
1) การกำหนดทางเลือกในการตอบให้ผู้ตอบเลือก (Selected Response) เช่น การเลือกคำตอบที่ถูกที่สุด การโยง การจับคู่ การตอบถูก – ผิด เป็นต้น
2) การกำหนดให้ตอบคำถามสั้นๆ (Constructed Response) เช่น การเขียนตอบ คำถามสั้นๆ การให้คำจำกัดความ การให้นิยาม การพูดอธิบายขั้นตอนการทำงานสั้นๆ การพูดอธิบายนิยาม ความคำสั้นๆ เป็นต้น
3) การกำหนดให้เขียนตอบโดยอิสระ (Essay) เช่น การเขียนเรียงความ การเขียนจดหมาย การเขียนโครงการ การแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์
4) การประเมินการปฏิบัติงานที่เกิดจากการเรียนรู้ในชั่วโมงเรียน ซึ่งเรียกว่าเป็นผลการปฏิบัติงานในโรงเรียน (School Product/ School Performance) เช่น การสำรวจ การจัดโต้วาที การสร้างแผ่นผับ การสร้างโปสเตอร์ การจัดทำ DVD VCD การจัดทำ Homepage การจัดทำป้ายนิเทศ การจัดทำบทละคร การแสดงละคร เป็นต้น
5) การประเมินการปฏิบัติในชีวิตจริง (Contextual Product /Performance) เช่น การเข้าร่วมปฏิบัติตนในฐานะศาสนิกชน การปฏิบัติตนในการเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน/สังคม การปฏิบัติด้านการใช้และดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม/สาธารณะสถาน เป็นต้น
6) การประเมินแบบต่อเนื่อง (On-Going Tools) การสังเกตพฤติกรรม การติดตามความก้าวหน้าของการปฏิบัติต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การให้ทำแฟ้มพัฒนางาน (Working Portfolio)

ขั้นตอนที่ 3 แนวทางการออกแบบการเรียนรู้ (Plan Learning experiences and Instruction)
หลักการ
การออกแบบการจัดการเรียนรู้แก่ผู้เรียน นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นหนึ่งสำหรับ ผู้สอน ที่ผู้สอนต้องจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดการพัฒนาจนบรรลุผลการเรียนรู้ที่คาดหวังมีความรู้ความสามารถ คุณลักษณะที่คงทนถาวรยั่งยืน และมีร่องรอยหลักฐานปรากฏชัดเจนตามที่ได้กำหนดไว้ในขั้นตอนที่ 2
หลักปฏิบัติ
ในการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ Wigginsได้เสนอแนวทางที่มีชื่อย่อว่า WHERE โดยเริ่มจาก
W (Where are we heading?) เป้าหมาย หรือทิศทางของหน่วยการเรียนรู้
H (Hook the Student through engaging and provocative entry points) ตรึงผู้เรียนไว้ให้ได้ด้วยกิจกรรมที่ดึงดูดและท้าทาย
E (Explore and Enable/Equip) การวิเคราะห์และส่งเสริม
R (Reflection and Rethink) การใคร่ครวญและทบทวน
E (Exhibit and Evaluate) การนำเสนอและประเมินผล
กล่าวโดยสรุป เมื่อออกแบบการเรียนรู้ในหน่วยการเรียนรู้สำเร็จแล้ว ต่อไปครูผู้สอนก็สามารถนำผลการวิเคราะห์จากขั้นตอนต่างๆ ไปเขียนเป็นแผนการจัดการเรียนรู้โดยละเอียดได้เลย ทั้งนี้จากกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ที่ได้กล่าวมา จะเห็นว่า การออกแบบการเรียนรู้แบบมองย้อนกลับ เป็นกระบวนการออกแบบการเรียนรู้ที่เป็นระบบ ทุกขั้นตอนจะเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันโดยมีมาตร-ฐานการเรียนรู้ หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของแต่ละรายวิชาเป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินการ สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ที่เน้นมาตรฐานการเรียนรู้อย่างแท้จริง และนอกจากนั้นในการกำหนดภาระหรือชิ้นงานให้นักเรียนปฏิบัติ โดยยึดแนวทางการประเมินผลตามสภาพจริง และการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ นักเรียนได้มีการปฏิบัติงานจริง และพัฒนากระบวนการคิด รู้จักนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริง ซึ่งน่าจะช่วยทำให้การวัดผลประเมินผลและการเรียนการสอนถักทอไปพร้อมๆ กันได้



วิธีการออกแบบการเรียนรู้แบบย้อนกลับ สามารถดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน ดังแผนภูมิต่อไปนี้




































การดำเนินการตามรูปแบบข้างต้น มีวิธีปฏิบัติดังตาราง

ขั้นตอน
ดำเนินการ การดำเนินการ แนวทางการดำเนินการ
1 กำหนดหน่วยการเรียนรู้ - ศึกษาคำอธิบายรายวิชา
- จัดทำโครงสร้างหน่วยตลอดทั้งภาคเรียน/ปี โดยควรมีหน่วยบูรณาการทั้งภายใน และระหว่างกลุ่มสาระ
- ตรวจสอบว่าแต่ละหน่วยมีการระบุมฐ.ช่วงชั้น-ผลการเรียนรู้-สาระ-เวลาเรียน
2 กำหนดความคิดรวบยอด (Core Concepts) - นำสาระการเรียนรู้ในหน่วยมาเขียนสรุปเป็นความคิดรวบยอด
- ตรวจสอบความคิดรวบยอดดังกล่าวว่าครอบคลุมตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวังประจำหน่วย
3 วิเคราะห์ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง เพื่อกำหนดความรู้ (Knowledge)ที่ต้องรู้
ทักษะ/กระบวนการ(Practice/Process) ที่ต้องปฏิบัติได้
และคุณลักษณะ (Affective) ที่ต้องเกิดและทักษะการคิดที่ต้องมี - ค้นหาคำหลักจากผลการเรียนรู้ที่สะท้อน KPA หากไม่ปรากฏ โดยเฉพาะ Affective ให้กำหนดเพิ่มเติม
4 กำหนดความเข้าใจที่ถ่องแท้คงทน (Enduring Understanding) เฉพาะหน่วยการเรียนรู้ - พิจารณาจากผลในขั้นตอนที่ 3 ว่าผู้เรียนต้องมีความรู้ที่ฝังลึกสามารถนำความรู้ดังกล่าวออกมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ทุกขณะและนำไปใช้ในการเรียนต่อไปได้
5 กำหนดวิธีการวัดผลประเมินผล - พิจารณาผลจากขั้นตอนที่ 3, 4
- กำหนดวิธีการวัดผลให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเรียนดังกล่าวโดยยึดหลักการวัดผลตามสภาพจริง



6 ออกแบบการจัดการเรียนรู้ - นำแนวทางการประเมินที่กำหนดในขั้นที่ 5 มากำหนดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้เกิดหลักฐานผลงานตามแนวทางการประเมินที่กำหนดไว้

7 กำหนดเกณฑ์การประเมินคุณภาพโดยรวมทั้งหน่วย - พิจารณาวิธีการวัดผลประเมินผลแต่ละวิธีที่กำหนดว่ากำหนดเกณฑ์คุณ-ภาพอย่างไร
- ระบุเกณฑ์ตัดสินคุณภาพโดยรวมทั้งหน่วย จากวิธีการประเมินทั้งหมด
8 จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ - นำกิจกรรมการเรียนรู้ที่ระบุในขั้น-ตอนที่ 6 ไปเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ตามขั้นตอนการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมจนครบทุก กิจกรรมการเรียนรู้

ไม่มีความคิดเห็น: