ใบความรู้เรื่อง สิ่งแวดล้อมรอบตัว


ความหมายของสิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อม หมายถึงสรรพสิ่งต่างๆหรือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวทั้งที่เป็นสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ประกอบด้วยสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างแนบแน่นและเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
ประเภทของสิ่งแวดล้อม มี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ (Natural Environment) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ อากาศ ป่าไม้ สัตว์ป่า ฯลฯ สิ่งแวดล้อมประเภทนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอาจใช้เวลาเร็วหรือช้าเพียงใดขึ้นอยู่กับชนิดและประเภท ดังนั้นสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 
                1) สิ่งมีชีวิต (Biotic Environment) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ มีลักษณะและคุณสมบัติเฉพาะตัวของสิ่งมีชีวิตเช่น พืช สัตว์และมนุษย์เราอาจจะเรียกว่าสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ (Biological Environment) ก็ได้
                2) สิ่งไม่มีชีวิต (Abiotic Environment) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ไม่มีชีวิต อาจจะมองเห็นหรือไม่ก็ได้ เช่น ดิน น้ำ ก๊าซ อากาศ ควัน แร่ธาตุ เมฆ รังสีความร้อน เสียง ฯลฯ เราอาจเรียกว่า สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Environment) ได้เช่นกัน 
2. สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-Make Environment) เป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้ความรู้ความสามารถที่ได้รับการสั่งสอน สืบทอด และพัฒนากันมาตลอด ซึ่งได้แบ่งไว้ 2 ประเภทคือ 
                1) สิ่งแวดล้อมทางวัตถุ หรือสิ่งแวดล้อมที่สามารถมองเห็นได้ เช่น บ้านเรือน เครื่องบิน โทรทัศน์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวก หรือตอบสนองความต้องการในการดำรงชีวิต บางอย่างอาจมีความจำเป็น แต่บางอย่างเป็นเพียงสิ่งฟุ่มเฟือย 
                2) สิ่งแวดล้อมทางสังคม หรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นนามธรรม (Social Environment) เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อความเป็นระเบียบสำหรับอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สิ่งแวดล้อมทางสังคมได้แก่ ระบอบการปกครอง การศึกษา ศาสนา อาชีพ กฎหมาย ความเชื่อ เจตคติ ขนบธรรมเนียมประเพณี ระเบียบข้อบังคับ ฯลฯ สิ่งแวดล้อมที่มองไม่เห็นจะแสดงออกมาในรูปพฤติกรรม 
ความหมายทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources) หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงชีวิตได้โดยอาศัยการดัดแปลง  แปลรูป หรือการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมตามความต้องการของมนุษย์ เช่น พืช ดิน น้ำ  แร่ธาตุต่างๆเป็นต้น
ประเภทของทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรธรรมชาติแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป (Nonenewable Resources) เป็นทรัพยากรที่เมื่อนำไปใช้แล้วจะต้องสิ้นเปลืองและหมดไปในที่สุด ทรัพยากรประเภทนี้มีอยู่อย่างจำกัด การเกิดขึ้นทดแทนต้องอาศัยเวลานานไม่สามารถเกิดขึ้นทดแทนได้พอกับความต้องการใช้งาน  ดังนั้นจึงพบว่าทรัพยากรประเภทนี้บางชนิดอาจหมดไปจากโลกในช่วงเวลาอีกไม่นานนัก  ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไปสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
         1.1 ทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้นใหม่ ทดแทน หรือรักษาให้คงอยู่ได้ เป็นทรัพยากรที่นำไปใช้ประโยชน์แล้วสามารถรักษาหรือเกิดขึ้นทดแทนได้หากมีการจัดการแนวทางการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม  จะทำให้ทรัพยากรมีเพียงพอใช้ได้ตลอดไป เช่น ดิน ป่าไม้และสัตว์ป่า ชนิดต่างๆ
         1.2  ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถสร้างเสริมหรือทดแทนได้เป็นทรัพยากรที่นำไปใช้ประโยชน์แล้วหมดสิ้นไปโดยไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่หรือช่วยทดแทนให้เหมือนเดิมได้ เช่น แร่ธาตุต่างๆ ปิโตรเลียม เป็นต้น
 2. ทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถทดแทนใหม่ได้ (Renewable Resources) เป็นทรัพยากรที่สามารถเกิดขึ้นมาใหม่  ทดแทนได้โดยไม่หมดสิ้นไป  สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตลอด   เช่น น้ำอากาศ  แสงแดด เป็นต้น แต่ทรัพยากรธรรมชาติบางชนิดหากไม่มีการจัดการที่เหมาะสมแล้วจะทำให้เกิดโทษหรือส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตได้เช่น  การปนเปื้อนสารพิษในแหล่งน้ำ  การเกิดแก๊สและฝุ่นละอองในอากาศ  เป็นต้น กล่าวโดยรวมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมีความสำพันธ์กันทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทรัพยากรธรรมชาติจะเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม หรือเป็นสิ่งแวดล้อมที่สามารถเกิดขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ ซึ่งหากมีการใช้งานไม่ถูกต้องเหมาะสมแล้วทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นก็ย่อมหมดสิ้นไปได้ ทำให้สิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะนำไปสู่ผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ในที่สุด
ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความเป็นอยู่ของมนุษย์ โดยมนุษย์จะนำสิ่งแวดล้อมรวมถึงทรัพยากรที่มีอยู่ในธรรมชาติมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นปัจจัยสำหรับการดำรงชีวิต เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และสร้างที่อยู่อาศัยหรืออาจเรียกได้ว่าการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็น การดำรงชีวิตแบบพึ่งพาสิ่งแวดล้อม
นอกจากการใช้เพื่อปัจจัยสำหรับการดำรงชีวิตมนุษย์ยังมีการใช้ทรัพยากรเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในด้านต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่การใช้ประโยชน์ทางการเกษตร อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม
         ในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงระยะเวลาที่มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มสูงมากขึ้นอย่างไม่มีสิ้นสุด และหากไม่มีระบบการจัดการที่ดี ตั้งแต่การรักษา อนุรักษ์ และทดแทน ก็ย่อมส่งผลให้เกิดปัญหารุนแรงด้านสิ่งแวดล้อมในบางส่วนของโลกได้
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวนี้ จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและที่กำลังพัฒนา เช่น ปัญหาด้านภาวะมลพิษที่เกี่ยวกับน้ำ ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมสลายและหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว เช่น น้ำมัน แร่ธาตุ ป่าไม้ พืช และสัตว์ ปัญหาเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานและชุมชนของมนุษย์ เช่น การวางผังเมืองและชุมชนอย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดความแออัดยัดเหยียด การใช้ทรัพยากรผิดประเภทและลักษณะปัญหาแหล่งทรัพยากรเสื่อมโทรม ตลอดจนปัญหาจากของเหลือทิ้ง อันได้แก่ ขยะมูลฝอย พลาสติก และวัสดุเหลือใช้ต่างๆเป็นต้น










ไม่มีความคิดเห็น: