10 หลักการที่ดีในการออกข้อสอบ (ตามความคิดของผม) (ปรนัย และหรือ อัตนัย)
ฤดูออกข้อสอบเพื่อวัดความรู้(และชะตากรรมของนศ.อีกหลายคน) กำลังจะมาถึงอีกครั้ง ผมถือเป็นคติว่า "การออกข้อสอบที่ไม่ดีเป็นบาปอย่างยิ่ง" ซึ่งตัวผมเองได้ทำบาปมามากในเรื่องนี้ จึงใคร่ขอเสนอประสบการณ์ต่อเพื่อนคณาจารย์ไว้เป็นอุทาหรณ์ เพื่อท่านจะได้ไม่ทำบาปซ้ำกับที่ผมได้เคยทำ ในความเห็นของผมข้อสอบที่ดีควร:
1) สามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจน ไม่กำกวม
"หากเด็กมันจะตกขอให้มันตกเพราะมันไม่เข้าใจเนื้อหาวิชาที่มึงสอน อย่าให้มันตกเพราะมันไม่เข้าใจข้อสอบที่มึงออก" (ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ชัดเจนและไม่กำกวมเลย J และเป็นคำกล่าวของอาจารย์ของ ดร.ชาญชัยฯ ซึ่งท่านได้นำมาเล่าให้ผมฟังอีกต่อหนึ่ง) การใช้ภาษาในโจทย์ปัญหา ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ นั้นอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะสิ่งที่เราเข้าใจกับสิ่งที่ศิษย์เข้าใจอาจไม่ตรงกัน สังเกตได้ว่าอาจารย์ที่(ดูเหมือนว่า)เก่งมากๆ จะมีปัญหามากที่สุดในเรื่องนี้ ผมเห็นว่าคนเก่งที่แท้จริงต้องทำให้คนไม่เก่งเข้าใจได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นตรงกันข้าม ผมระวังเรื่องนี้ที่สุด และเชื่อมั่นในตนเองว่าผมมีทักษะในการสื่อสารดีกว่าค่าเฉลี่ย แต่ไม่น่าเชื่อว่าทุกครั้งจะมีนักศึกษาประมาณ 10-20% ต้องได้คะแนนน้อยกว่าที่ควรเป็นเพราะไม่เข้าใจโจทย์ปัญหาอัตนัยที่ผมถาม ส่วนโจทย์ปรนัยนั้นเชื่อว่าก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่ตรวจจับได้ยาก บางครั้งนศ.ถามจึงทราบว่าโจทย์มีความกำกวม บางครั้งผมต้องยกประโยชน์ให้นศ.เพราะตีความแล้วตอบได้มากกว่า 1 ข้อ
2) ควรเป็นภาษาไทย (ยกเว้นวิชาภาษาต่างประเทศ)
มทส.ไม่ได้จัดให้มีการสอบ TOEFL เพื่อคัดนักศึกษาเข้าม.จึงอาจไม่เหมาะที่จะออกข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษ เพราะแม้ออกเป็นภาษาไทยนศ.ยังตีความผิดหรือมีความกำกวม (ดังที่ผมประสบเนืองๆ ) คงเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งหาก นศ.ต้องตก(และออก)เพราะไม่เข้าใจโจทย์ข้อสอบภาษาอังกฤษ(โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับป.ตรี) ว่าไปแล้วแม้แต่การใช้ภาษาไทยยากๆ ที่พวกเด็กๆ ต้องเขย่งเท้าอ่านก็พึงละเว้น เช่น คำว่า บริบท(เนื้อความ) บูรณาการ(เชื่อมโยง) พิสัย(ช่วง) กอปรกับ(ประกอบกับ) เป็นต้น ควรใช้ภาษาง่ายๆ ลุ่นๆ ที่เข้าใจง่ายให้มากที่สุด
3) มีข้อมูลให้ครบพอที่จะทำข้อสอบได้
สองวิธีที่จะตรวจจับผิดตนเองในประเด็นนี้ได้คือ ให้เพื่อนคณาจารย์ลองทำดู และ ลองทำดูด้วยตนเอง โดยควรทิ้งโจทย์ไว้สัก 2-3 วันจึงลองทำจะเป็นการดี หากลองทำทันทีจะมองข้ามข้อบกพร่องได้ง่ายเพราะความคุ้นเคย การให้ข้อมูลไม่ครบถือเป็นบาปหนัก เพราะนศ.อาจทำไม่ออกและเสียเวลากับข้อนั้นนานมาก เลยพลอยทำให้ทำข้ออื่นไม่ทันไปด้วย นศ.หลายคนอาจต้องตกออกเพราะเรื่องนี้ก็เป็นได้ ซึ่งอาจารย์ผู้ออกอาจต้องตก__ก?)
4) ควรลองทำข้อสอบด้วยตนเอง
นักการศึกษาได้วิเคราะห์ไว้ว่าผู้ออกควรทำเสร็จภายในหนึ่งในสามของเวลาที่ให้นศ.ทำ ซึ่งข้อสอบอัตนัยของผมที่ผมว่า "ง่าย" แล้วนั้นส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์นี้ (ผู้สอนแท้ๆ ยังใช้เวลานานแล้วจะให้ผู้เรียนทำเสร็จในเวลาได้อย่างไร?)
5) ควรให้เพื่อนคณาจารย์ในสาขาช่วยอ่านโจทย์
ผมขอฝากท่านหัวหน้าสาขาว่าสมควรกำหนดให้คณาจารย์ในสาขาถือเป็นแนวปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง เชื่อว่าจะได้รับคำวิจารณ์ที่เป็นประโยชน์(และเป็นบุญ)มากจากเพื่อนคณาจารย์ เช่น กำกวม ยากไป ง่ายไป มากไป น้อยไป ข้อมูลไม่พอ แต่ ต้องเปิดกว้างยอมรับคำวิจารณ์ ไม่เช่นนั้นคงฝืดพอสมควร ถือว่าเขามาช่วยชี้ช่องทางสู่สวรรค์ให้ก็แล้วกัน J
6) ตรงวัตถุประสงค์ของวิชา
การสอนเพื่อให้นศ.ได้ทักษะและความรู้ตรงวัตถุประสงค์รายวิชานับเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การสอบถือเป็นกุศโลบายให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนตนเองให้มีความรู้ตรงตามวัตถุประสงค์รายวิชา (ซึ่งได้แจ้งไว้แล้วในเค้าโครงรายวิชา) ข้อสอบที่ออกได้ตรงวัตถุประสงค์ของวิชาจึงนับเป็นกระบวนการประกันคุณภาพที่สำคัญยิ่ง
7) อยู่ในประเด็นที่สอนหรือได้มอบการบ้าน
ไม่ออกนอกเรื่อง หรือ ตีความเอาเองว่าเกี่ยวพันกับสิ่งที่สอน แล้วเชื่อว่านศ.จะสามารถตีความได้เหมือนเรา หากเป็นการทำการบ้านก็คงพอใช้กลวิธีนี้ได้ แต่นี่เป็นการสอบหากนศ.พลาดในการเชื่อมโยงจะเสียคะแนนมาก นอกเสียจากว่าได้กำหนดเป็นวัตถุประสงค์รายวิชาไว้แล้วว่า"ต้องสามารถตีความและเชื่อมโยงความรู้ไปสู่ประเด็นอื่นๆได้ด้วย"
8) ครอบคลุมหัวข้อที่สอน (ซึ่งทุกข้อตรงวัตถุประสงค์รายวิชา)
จะทำให้การวัดผลแม่นตรง เช่น หากออกเพียง 20% ของหัวข้อเท่านั้น นศ.คนหนึ่งเก็งข้อสอบ 20% มาตรงพอดีก็อาจได้เต็ม ส่วนอีกคนหนึ่งดูมา 80% ที่เหลือ กลับได้ศูนย์เป็นต้น เท่าที่สังเกตดู (รวมทั้งสังเกตตนเอง) อาจารย์มักชอบออกข้อสอบในหัวข้อที่ตนชอบ รัก สนใจ ถนัด ส่วนหัวข้อที่ตนไม่ชอบ ไม่ถนัด ก็มักไม่ออก แต่นศ.ไม่อาจเดาได้ว่าผู้สอนถนัดอะไร
9) ไม่ยากหรือง่ายเกินไป
การออกที่ยากหรือง่ายเกินไป ไม่อาจวัดความรู้นศ.ได้อย่างแม่นตรงในเชิงสถิติ ทำให้มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานกว้างหรือแคบกว่าเป็นจริง หรือคะแนนจะมีความเบ้มากเกินไป
10) ปริมาณไม่มากหรือน้อยเกินไป
การออกมากไปจะทำให้ผู้สอบลนลานจนทำข้อสอบพลาด ทั้งที่มีความสามารถพอทำได้หากมีเวลาพอสมควร การออกน้อยเกินไปทำให้ผู้ที่ทำเสร็จเร็วออกจากห้องสอบก่อนเวลามาก ยังผลให้เสียขวัญ กำลังใจ และสมาธิต่อผู้สอบอื่น และยังทำให้การวัดผลไม่เที่ยง เพราะอาจทำได้คะแนนเท่ากันแต่ใช้เวลาทำแตกต่างกันมากเป็นต้น
ออกข้อสอบ ควรคำนึง ถึงผู้สอบ
ชอบไม่ชอบ ก็ควรครอบ คลุมเป้าหมาย
ภาษาใช้ ให้ชัดเจน ไม่ฟูมฟาย
ข้อมูลหลาย รายเรียง ให้เพียงพอ
ลองคลำทำดูให้ ถ้วนถี่
อุดรอยรั่วไม่มี เหลือหลอ
ความยากง่ายพอดี ไม่มาก น้อยนา
ทำเพียงแค่นี้หนอ จักได้ บุญดี
About the language usage for the examinees,
May I suggest using the Aborigine's.
Let'm flunk for their incompetence in academics,
And not for our preference in semantics.
…………………………………………………………………โดย ทวิช จิตรสมบูรณ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น