การสะท้อนของเสียง

เมื่อเรายืนอยู่ในระหว่างหุบเขาและเปล่งเสียงตะโกนออกมา ในเวลาอีกไม่นานเราก็จะได้ยินเสียงอุโฆษ (echo) ซึ่งเป็นเสียงของเราเองที่สะท้อนกลับมาหาตัวเรา ถ้าในหุบเขามีภูเขาตั้งอยู่หลายๆลูก เสียงอุโฆษจะเกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง นี่คือปรากฏการณ์ในลักษณะของการสะท้อนของเสียง ตามปกติเมื่อเสียงกระทบกับกำแพงที่มีผิวแข็งๆ ส่วนหนึ่งของเสียงจะสะท้อนกลับ แต่เสียงอีกส่วนหนึ่งจะแทรกซึมเข้าไปในกำแพง ส่วนที่แทรกเข้าไป (transmit) นี้ อาจเปลี่ยนสภาพกลายเป็นความร้อน และยังมีอีกส่วนหนึ่งที่จะทะลุออกอีกด้านหนึ่งของกำแพงไปได้ ลักษณะของการแทรกซึมผ่านไปนี้เราเรียกว่า Transmittance
ถ้าหากว่ากำแพงเหล่านั้น ประกอบขึ้นด้วยไม้อัดบางๆ หรือเป็นหน้าต่างบานกระจก เมื่อถูกเสียงมากระทบเข้า กำแพงก็จะสั่นสะเทือน ซึ่งจะส่งพลังงานเสียงออกไปอีกต่อหนึ่ง ฉะนั้น กำแพงที่แข็งและไม่สั่นสะเทือนจะเป็นตัวกันเสียง (Barrier) ที่ดีที่จะไม่ให้เสียงผ่านไปได้โดยการสั่น ในขณะที่กำแพงไม้อัดบางๆ หรือหน้าต่างบานกระจกเสียงจะผ่านไปได้อย่างสะดวกอันเกิดจากการสั่นสะเทือน อนึ่ง วัตถุที่มีรูพรุน (porous materials) ทั้งหลาย สามารถดูกลืนเสียงได้มาก ถ้านำวัตถุที่มีรูพรุนเหล่านี้มาประกบเข้ากับกำแพงแข็งเข้าด้วยกัน ก็จะเป็น ฉนวนกันเสียง (insulation) ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นฉนวนกันความร้อนได้ด้วย

เสียงมีคุณสมบัติคล้ายแสงที่สามารถสะท้อนได้เช่นเดียวกัน การสะท้อนของเสียงขึ้นอยู่กับความถี่ของเสียง (Frequency) และมุมที่เสียงตกกระทบ ความยาวคลื่นของเสียงมีค่ามากกว่าของแสงมาก (แสงที่เราสามารถเห็นได้ มีความยาวคลื่นระหว่าง 0.000015 ถึง 0.000030 นิ้ว แต่เสียงที่เราได้ยินมีความยาวคลื่นประมาณ 0.06 ฟุตถึง 60 ฟุต) ฉะนั้นวัตถุที่เสียงกระทบจะต้องมีขนาดใหญ่พอสมควร

ไม่มีความคิดเห็น: